วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

27 พฤษภาคม 2449วันเกิด พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์--เงื่อม อินทปัญโญ)
 มหาบุรุษแห่งสยามประเทศ เดิมชื่อ เงื่อม พานิช เกิดที่พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ตอน 8 ขวบพ่อแม่พาไปฝากตัวเป็นเด็กวัดพุมเรียง (วัดใหม่) บวชพระเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2469 ได้ฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ หลังจากสอบได้นักธรรมโท ท่านก็เดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลา 2 เดือนท่านได้พบเห็นความหย่อนวินัยของสงฆ์ พลอยให้รู้สึกเบื่อจนคิดจะกลับบ้านไปสึก ท่านกลับไชยาไปสอนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา ปี 2473 ก็ถูกรบเร้าให้ขึ้นกรุงเทพฯ อีกครั้ง จนสอบได้เปรียญ 3 ประโยคแต่สอบตกเปรียญ 4 เพราะมีความคิดเห็นไม่เหมือนกับครูและผิดหวังกับระบบการเรียนการสอนที่ขาดอิสระ จึงตัดสินใจกลับไชยาไปหาที่สงบเพื่อค้นคว้าธรรมะ วันที่ 12 พฤษภาคม 2475 ก่อนที่คณะราษฎรจะทำการอภิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหาเงื่อมกับ นายธรรมทาส (ยี่เกย) พานิช น้องชายได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างสระตระพังจิก ตั้งชื่อว่า "สวนโมกขพลาราม" ท่านเริ่มศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจังจนถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียน "ตามรอยพระอรหันต์"โดยใช้นามปากกา "พุทธทาส” ทยอยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา หนังสือพิมพ์พุทธศาสนาเล่มแรกของไทย ซึ่งท่านกับน้องชายได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2476 จากนั้นท่านได้ศึกษาปรัชญาตะวันออกทั้งเต๋าและเซนออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา ในปี 2486 ท่านย้ายสวนโมกข์ฯ มายังวัดธารน้ำไหล เชิงเขาพุทธทอง (ริมถนนเอเชียปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านใช้ปฏิบัติ ศึกษา สั่งสอน เขียนหนังสือเผยแพร่ธรรมะจนวาระสุดท้าย ท่านพุทธทาสมรณภาพวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ท่านพุทธทาสเป็นผู้เปิดมิติใหม่ให้แก่พุทธศาสนาในเมืองไทย ปลุกคนจากความงมงายให้ตื่นขึ้นมาพบกับความสว่าง สะอาด สงบ พาผู้คนละจากเปลือกกระพี้มุ่งสู่แก่นแท้ของพุทธศาสนา และนำหลักคำสอนชั้นแก่นและหัวใจของพุทธศาสนาที่ถูกหลงลืม กลับมาสอนใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น และสามารถเข้าถึงได้ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" …แต่วันนี้สังคมไทยกำลังลืมท่าน และมุ่งหน้าสวนทางกับคำสอนของท่าน ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น