วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

Zen สรุปคำสอนนิกายเซนตอนที่ 1

Zen สรุปคำสอนนิกายเซนตอนที่ 1
หัวใจสำคัญของหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนานิกายเซ็น ก็เป็นเข่นเดียวกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั่นเอง เพราะทั้งสองนิกายนี้ล้วนเป็นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีพระศาสดาองค์เดียวกัน มิอาจจะแบ่งแยกหลักธรรมคำสอนเป็นสองสิ่ง ที่เรียกว่า “ทวิลักษณ์” ใด ๆ ได้



 ที่สำคัญยิ่งก็คือทั้ง เซ็น และเถรวาท ก็เป็นเพียงชื่อเรียกเท่านั้นเอง โดยสภาวะแล้ว ก็หาได้มี เซ็น และมี เถรวาท แต่ประการใดไม่ นั่นเป็นเพราะทั้งเซ็น และ เถรวาท ล้วนเป็นคำพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ก็มาจากความไม่มีไม่เป็นนั่นเองนั่นก็คือ ทั้งคำพูดและตัวอักษรที่นำมาบอกกล่าวกัน เช่น คำว่า เซ็น  เถรวาท  ความว่าง  ความไม่ว่าง  ความไม่มี  ความไม่เป็น  หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะ” และ “อภาวะ” นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มี ไม่เป็น และล้วนแต่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของมนุษย์ ทั้งนี้ การที่ธรรมชาติทั้งหลายมี 2 สภาวะ หรือหลายสภาวะ ก็เพราะความคิดปรุงแต่ง  เฉพาะอย่างยิ่งทันทีที่เริ่มต้นคิดปรุงแต่งในทางที่เป็นตัวเป็นตน เป็นเราขึ้นมา ก็ทำให้เกิด 2 สภาวะขึ้นอย่างฉับพลัน




ว่าไปแล้ว วัตถุสิ่งของหรือสรรพสิ่งที่กระทบหรือสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียกกันว่า “อายตนะ” นั้น เป็นกระบวนการทำงานของรูป นาม หรือ ขันธ์ 5 ที่ส่งและรับต่อกันไป เข่น ทันทีที่รับรู้ทางอายตนะแล้วส่งไปที่ความจำ (สัญญา)  แล้วบันทึกไว้ จากนั้นก็ส่งต่อไปที่ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร)  คือคิดนึกตามความรู้และความจำนั่นเอง ถ้าเป็นปุถุชน คิดปรุงแต่ง ก็จะปรุงแต่งว่าดีหรือเลว พอใจหรือไม่พอใจ สวยหรือน่าเกลียด แต่ถ้าเป็นความคิดปรุงแต่งของอริยชน หรืออริยสงฆ์ ก็จะปรุงแต่งว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นเพียงสิ่งสมมุติ


เฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดปรุงแต่งใด ๆ ก็ไม่ใช่ความคิดปรุงแต่งของใคร  และ แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครคิดปรุงแต่ง  ไม่มีใครเป็นผู้รู้  ไม่มีใครเป็นผู้จำ  ที่จำ ที่รู้ ที่คิดปรุงแต่ง ก็เป็นเพียงสักแต่ว่า ... เท่านั้นเอง

ว่าไปแล้วทั้งหลายทั้งปวงเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามสภาวธรรม หรือตามกฎธรรมชาติ หรือเป็นกฎของจักรวาล หรือเป็นกระบวนการของสรรพสิ่งที่มีภาวะ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ที่เรียกว่า “ตถาตา” คือ สรรพสิ่งเป็นอย่างที่มันเป็น แม้มนุษย์จะตั้งให้มันเป็นอะไร มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้ง ขอย้ำว่า มันเป็นอย่างที่มันเป็น มิอาจจะบอกได้ว่ามันเป็นอะไร และมิอาจจะแบ่งแยกสรรพสิ่งด้วยความคิดและคำพูดใด ๆ ได้

กระนั้นเมื่อมนุษย์สมมุติว่า เป็น ว่า มี อย่างหนึ่ง อย่างใดแล้ว  ก็เอากายและจิตกระทำไปตามสมมุตินั้น  เช่นสมมุติว่า มีคนอยู่ในสังคม ก็ต้องสมมุติต่อไปว่า สังคมเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  ในสังคมมีอย่างนั้น มีอย่างนี้

ดังนั้น จึงมีถ้อยคำ ตัวอักษร และภาษาเกิดขึ้น  เพื่อเป็นสื่อหรือเครื่องมือสำหรับมนุษย์สื่อสารต่อกัน  เพื่อที่จะรู้เรื่องราวต่าง ๆ และเพื่อที่จะได้มีชีวิตอย่างสะดวกสบาย เมื่อคนเข้าใจว่า คำพูดหรือภาษาเป็นเรื่องจริง ต่อมาสังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ  ก็ได้มีการบัญญัติสิ่งต่าง ๆ ขึ้นด้วยคำพูด เรียกว่า “วจีวิญญัติ” มากมายสุดคณานับ วจีวิญญัติ หมายถึงการกำหนดขึ้น  ตั้งขึ้น  เพื่อเป็นสื่อความหมายในการใช้พูดจา ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องบางสิ่ง มนุษย์พูดขึ้นมาลอย ๆ สิ่งที่มนุษย์คิดนึกและพูดจากันนั้น หาได้เป็นของที่มีอยู่ เป็นอยู่ใด ๆ ไม่  และพูดแล้วก็ละลายหายไปกับอากาศธาตุ  เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่งใหม่ ก็เก็บความคิดนั้นมาพูดซ้ำ หรือปรุงแต่งใหม่ จึงเกิดสุข เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือ มันปรุงแต่งหรือคิดปรุงแต่งแล้วก็ดับไป แล้วก็คิดปรุงแต่งใหม่ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า


 แต่ถ้ามีสติรู้เท่าทันขันธ์ 5 ว่าแท้จริงแล้ว ขันธ์ 5 นั้น ไม่ใช่ขันธ์ 5 ของใคร  และไม่เป็นตัวเป็นตน ดังนั้น ขันธ์ 5 จะคิดปรุงแต่งอย่างไร ก็ไม่มีใครไปทำอะไรมันได้ เพียงรู้แค่นี้ เรียกว่า “ปล่อยวางขันธ์ 5”  ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ละสักกายทิฐิ”  คือละความเห็นผิดเกี่ยวกับร่างกาย ว่าไม่เป็นใคร ไม่เป็นอะไร เป็นตถาตา เช่นนั้นเอง  ใครปล่อยวางได้ก็ดับทุกข์ได้ ทำให้ว่างจากผู้กระทำ (กรรม)  จึงไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด (วัฏสงสาร)  คือเกิดความคิดในความเป็นที่เป็นตัวเป็นตนกันอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น