วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

Zen

แม้ว่าการศึกษาหาความรู้จากคำสอนจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และอาจเรียนรู้จากผู้อื่น ที่เรียกว่า “ปริยัติธรรม” ทั้งจากท่านผู้รู้ที่เป็นครูบาอาจารย์  หรือกัลยาณมิตรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหากเราไปยึดติดตำรา ครูบาอาจารย์  โดยไม่ยอมรับฟังจากใครว่าสิ่งที่เราประสบพบเห็นเป็นสิ่งดีงาม  เป็นสิ่งถูกต้อง  เป็นสิ่งเที่ยงแท้  ก็จะกลายเป็นการยึดมั่นในธรรมะ  จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมราคะ” คือการยึดติดธรรมจนเกิดราคะ

ทั้งนี้ โดยเนื้อแท้แล้วชื่อเรียกสิ่งใดก็ตาม  ล้วนเป็นสิ่งสมมติบัญญัติขึ้นทั้งสิ้น  เพื่อเป็นสื่อในการพูดจาสนทนาถึงสรรพสิ่ง  ที่อยู่รอบตัวเราว่าคืออะไรเป็นอะไร  ควรใช้สอยหรือเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ที่เรียกว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับมนุษย์ขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น  เช่นเดียวกับธรรมะก็เป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็น  ที่เรียกว่าพาหนะหรือพ่วงแพที่นำผู้คนจากฝากหนึ่งสู่อีกฝากหนึ่ง 
เหนืออื่นใดพึงเข้าใจว่าสรรพหรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง  รวมทั้งร่างกายและจิตใจ เปรียบประดุจดั่งวัตถุสิ่งของที่นำมาใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวชั่วขณะ แล้วก็ทิ้งมันไป แม้ไม่ทิ้งมันไปมันก็จะเสื่อมสลาย และแตกดับไปตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ตามกาลเวลา  
ที่เรียกว่าเสื่อมสลายและแตกดับ  ก็เป็นแต่เพียงภาษาสมมติ   ซึ่งเป็นคำพูดที่ต้องการให้เป็นสิ่งที่มีเหตุผล  คือเป็นปัญญาระดับเหตุผลเท่านั้น ในทางปรมัตถธรรมแล้ว  ไม่มีการเสื่อมสลายไม่มีการแตกดับอะไรทั้งสิ้น  เป็นแต่เพียงความเป็นเช่นนั้น (ตถาตา)  ซึ่งจะบอกว่ามันดำรงอยู่  และเปลี่ยนสภาพไปตามเหตุและปัจจัยก็ได้  แต่ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ต้องมีการบัญญัติเรียกขานกันเป็นภาษาชาวโลกหรือภาษามนุษย์   เช่นบอกว่ามันเกิดขึ้น  มันตั้งอยู่  และมันเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา  เป็นต้น
ว่าไปแล้วอริยชนหรือมนุษย์ทุกคน  ก็ใช้ภาษาสมมติตามชาวโลก  แต่ภายในความคิดหรือความรู้สึกของอริยชนนั้น ทั้งการเกิด(อุบัติ) ขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสลาย คือสิ่งเดียวกัน อริยชนไม่เห็นว่ามันมีความแตกต่างกัน หรือมีความเหมือนกัน  นั่นก็คือมีแต่ความเป็นเช่นนั้น (ตถาตา)
อย่างไรก็ตามคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้  และสิ่งที่ต้องศึกษาจากสภาวะต่างๆ นั้น  ในระยะต้นจำเป็นที่จะต้องศึกษา  และปฏิบัติธรรมด้วยการฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่น  แต่ในที่สุดแล้วต้องนำมาพิจารณา  หรือนึกคิดอย่างแยบคาย ที่เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” หมายถึงการหยั่งรู้เกี่ยวกับร่างกายและจิตใจว่า  ร่างกายนี้มันไม่เป็นของใครหรือไม่เป็นของเราที่ตรงไหน  คือไม่มีเราในกายในจิต  ไม่มีจิตมีกายในเรา
เมื่อเพ่งพิจารณาถึงที่สุดแล้ว   ทั้งรูปและนาม  ทั้งร่างกายและจิต  ล้วนเกิดจากความรู้สึกนึกคิด  แล้วบังเกิดเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยตนเองว่า  ทั้งร่างกายและจิตใจที่ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทว่าไร้แก่นสารและไร้สาระ  เต็มไปด้วยของปฏิกูล  และมีภาวะตั้งอยู่ชั่วคราวไม่มีลักษณะใดที่คงทนถาวร (เที่ยง)  มีการแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยในทุกเวลาทุกวินาที เรียกว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


ด้วยเหตุเพราะมันต้องอิงอาศัยสิ่งอื่นดำรงอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยที่มันอาศัยเปลี่ยนแปลง มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยนั้น มันจึงไม่เป็นใคร จึงไม่เป็นอะไรด้วยประการฉะนี้ จากคำสอนของเถรวาทบอกว่า  สภาวะของตนที่อาศัยเหตุปัจจัยเรียกว่า “สวลักษณะ” นั้น  นั่นก็คือดำรงอยู่ด้วยการอาศัยสิ่งอื่น  ตัวมันเองมิอาจดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว  จึงไม่มีสิ่งใดเลยที่ปราศจากสวลักษณะ 




ด้วยเหตุที่สรรพสิ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน  และตัวมันจึงว่างเปล่า   เป็นความว่างจากความสำคัญมั่นหมาย  ว่างจากการให้ค่าว่าเป็นคนเป็นสัตว์เป็นตัวเป็นตน  ที่ว่าว่างเปล่าจากตัวตนเพราะเมื่อเหตุปัจจัย  หรือสิ่งที่มันอาศัยสิ่งอื่นหมดสิ้นไป  ตัวของมันเองก็จะดับสูญไปด้วย
ดังนั้นจึงมิอาจจะบอกหรือกำหนดหมายได้ว่า  สิ่งต่างๆ “มีอยู่” หรือ “ไม่มีอยู่”  เพราะการมีอยู่และไม่มีอยู่ของสรรพสิ่ง  ล้วนต้องขึ้นกับสิ่งอื่น  เพราะมันเป็น “สวลักษณะ” คือดำรงอยู่เพราะสิ่งอื่น 
 
 ยกตัวอย่างร่างกายและจิตใจของเรา  เป็น “สวลักษณะ” คือมันต้องอาศัย  “บิดาและมารดา” เป็นผู้ให้กำเนิด  เราจะเกิดขึ้นมาลอยๆ  โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยอะไรไม่ได้  ยิ่งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วต้องอาศัยน้ำ  อาหาร  ซึ่งเป็นปัจจัยสี่  เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้  หากขาดอาหารและขาดอากาศที่หายใจแล้ว  ชีวิตก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ต้องสูญสิ้นไป
นี่คือหลักธรรมคำสอนของฝ่ายเถรวาทที่แท้  ส่วนเถรวาทปฏิรูปหรือแนวอื่นๆ  ก็อาจจะสอนหรือบอกเล่าอีกแบบหนึ่ง  ก็เป็นไปตามความคิดนึกปรุงแต่งของผู้สอน 
นั่นก็คือคำสอนหรือสิ่งที่นำมาบอกมาแนะนำ  นำมาสอนกันนั้น  พุทธศาสนานิกายเซนเห็นว่า  เกิดจากความคิดนึก  หรือความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น  สิ่งที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของมนุษย์  ย่อมเป็นมายาหรือเป็นสิ่งที่ไม่มีความจริงแต่ประการใด 
ผู้ใดเห็นในสัจธรรมความจริงเช่นนี้  ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด  ไม่ยึดติดในอะไร  เพราะอะไรๆ ก็ไม่มี  ไม่จริง  เป็นมายาที่จิตเข้าไปรู้แล้วดับไปเช่นนั้นเอง  ซึ่งการที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆ นั้น  จำเป็นจะต้องปฏิบัติธรรมให้เห็นว่า  กายและใจมิใช่เป็นของเราหรือของใคร     


ขอบคุณ ภาพประกอบเรื่อง จาก

http://www.tourwat.com/5697/ego/
http://www.travelfreak.com/2013/05/28/5-maritime-disasters-worse-than-the-royal-caribbean-fire/
http://thephotoguide.co.uk/experimental/light/161-colour-transform-light-experiment/
http://apprenticeship101.wordpress.com/2012/05/page/2/
http://www.neatorama.com/2008/01/13/photomosaic-illusion/#!kMlQi
http://www.sookjai.com/index.php?topic=4184.0
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=prommayanee&month=06-2009&date=05&group=14&gblog=1
http://minecraft.wonderhowto.com/inspiration/m-c-eschers-gravity-defying-relativity-illusion-recreated-minecraft-0130040/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น